คุณเจสสิก้า ธนา โพธิ์สวัสดิ์ เจ้าของสวนทุเรียน อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร  

  “ยุคสมัยนี้ เพศที่ 3 หรือ LGBTQ ได้รับการยอมรับมากขึ้น และแน่นอนว่าพวกเราต้องการให้คนอื่น ๆ ได้เห็นศักยภาพในตัวของเรา ว่าพวกเราไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน เป็นเพศสภาพแบบไหน หรือจะทำอาชีพอะไร พวกเราก็ประสบความสำเร็จได้ แม้แต่การเป็นเกษตรกรก็เช่นเดียวกัน”         

คุณเจสสิก้า ธนา โพธิ์สวัสดิ์ เจ้าของสวนทุเรียน อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร  

เมื่อการปลูกทุเรียนนอกพื้นที่กลายเป็นสิ่งที่ท้าทาย

“ด้วยความที่ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพมาตลอด เรียนจบ ก็ทำงานประจำอยู่ 1 ปี แล้วก็มาขายประกัน รายได้ถือว่าเยอะพอสมควรนะคะตอนนั้น จนมาปี พ.ศ.2562 ถึงได้กลับมาดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านเกิดจังหวัดพิจิตร ก็เริ่มคิดว่าจะใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เรามีอยู่นี่ว่าจะทำอะไร ถามว่าทำไมต้องเป็นทุเรียน ถ้าพูดถึงจังหวัดพิจิตรก็จะนึกถึงส้มโอ แตงโม ใช่ไหมคะ แต่เราอยากทำอะไรที่เป็นแนวใหม่ ที่แตกต่างจากคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเสี่ยงพอสมควร แต่เราก็พร้อมจะเสี่ยงค่ะ”

“ยอมรับเลยว่าไม่มีความรู้เรื่องการทำเกษตรมาก่อนเลย แต่เราก็พยายามศึกษาหาความรู้มาโดยตลอด ทั้งเรื่องสายพันธุ์ วิธีการปลูก การดูแลรักษา พี่เชื่อไหมขนาดศัตรูพืชอย่างเพลี้ยไฟ เรายังศึกษายันต้นกำเนิดของมันเลยนะ รวมถึงปุ๋ยยาต่าง ๆ ด้วย เรื่องนี้ต้องขอบคุณบริษัทยารามาก ๆ เลยค่ะ ที่ส่งคุณหนึ่ง ภูมิพีรพงค์ พาหิรัญ นักวิชาการอาวุโส FFB & RegAg (นักวิชาการยารา) มาเป็นที่ปรึกษาให้ คุณหนึ่งจะคอยแนะนำว่าใช้ปุ๋ยตัวนี้ ๆ นะ คุณหนึ่งบอก คุณเชื่อผม ผมจะถ่ายทอดทุกอย่างให้คุณด้วยความเต็มใจ นี่คือสิ่งที่เราประทับใจคุณหนึ่ง ประทับใจบริษัทยารามากค่ะ”

“ปัจจุบันที่สวนจะปลูกทุเรียนประมาณ 5 ไร่ 200 กว่าต้น ได้พันธุ์มาจาก อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เป็นพันธุ์หมอนทองค่ะ แต่ตอนนี้ยังไม่มีลูกนะคะ ปลูกมาเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว จะค่อย ๆ เป็น  ค่อย ๆ ไป ไม่ไปเร่งเขาให้รีบออกลูก เพราะอยากให้ต้นเขามีความพร้อมที่สมบูรณ์ที่สุดค่ะ ช่วงนี้เราจะดูแลบำรุงต้นไปก่อน จากคำแนะนำของคุณหนึ่ง (นักวิชาการยารา) ก็จะแนะนำใช้ปุ๋ยอยู่ประมาณ 3 สูตรค่ะ คือ ยารามีร่า 16-16-16 รอสัก 4-5 วัน ก็จะใส่ยาราลีว่า ไนตราบอร์ 15-0-0 หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือนก็ใส่ยารามีร่า 25-7-7 ค่ะ เราจะไม่มีลำดับเวลาการใส่ปุ๋ยที่ตายตัวนะคะ แต่จะใช้วิธีสังเกตต้นทุเรียน และสภาพอากาศในช่วงนั้น ว่าเป็นอย่างไรต้องการบำรุงในส่วนไหนค่ะ”

 

ระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ นำไปสู่การยอมรับในวงกว้าง

“บอกตรง ๆ ว่าวิถีชีวิตเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง หลังจากมาอยู่ที่นี่ ด้วยความที่เราเป็นเพศที่ 3 ใช่ไหมคะ ทุกคนไม่มีใครอยากเป็นผู้ชายที่อ่อนแอหรอกค่ะ แต่เรามีความพิเศษอยู่ในตัวนะ เป็นทั้งผู้หญิง เป็นทั้งผู้ชายในเวลาเดียวกัน มีความอดทนเข้มแข็ง มีความละเอียดอ่อน และแน่นอนเรารักในแฟชั่น เรารักสวยรักงาม (หัวเราะ) แต่ตอนนี้มันไม่ได้แล้ว เราต้องลุยก่อน เพราะเราทำเองหมดทุกอย่าง พ่อแม่เราก็ต้องดูแลคนเดียว สวนก็ต้องดูแลคนเดียว แน่นอนความสวยเราก็ห่วงแต่ขอทำตรงนี้ก่อน พอผลผลิตออกมา ได้เงินมาค่อยไปทำสวยที่เกาหลีอีกทีก็ได้ (หัวเราะ) ตอนนี้ให้ทุเรียนเปิดเผยตัวตนแทน ตอนนี้ขอโชว์แค่ต้นทุเรียนอย่างเดียวก่อนค่ะ (หัวเราะ)” 

“ช่วงที่เริ่มปลูกยอมรับว่าโดนคำดูถูกเยอะนะคะ หนึ่ง คือ ในส่วนของเพศสภาพของเราว่าจะทำได้เหรอ สอง คือ ในเรื่องการปลูกทุเรียนในจังหวัดพิจิตร ปลูกแล้วมันจะโตเหรอ มันจะตายไหม เพราะคนในพื้นที่ที่ทดลองปลูกทุเรียนก็มีเหมือนกัน บางคนปลูกกัน 4-5 ไร่ แต่มันไม่รอด มันตายค่ะ พอเรามาทำตรงนี้ก็เป็นปกติที่จะมีข้อกังขา แต่ดีตรงที่เราเป็นคนไม่ค่อยซีเรียส เป็นคนที่เข้าใจคนอื่นพอสมควร ก็ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วกัน พอผ่านไป 4-5 ปี พวกเขาก็เห็นว่าเราทำได้จริง ๆ ต้นทุเรียนที่เราปลูกไป 200 ต้นเนี่ย มันรอด มันแข็งแรง อีกเพียงปีเดียวเราจะได้เห็นลูกของมันแล้ว”

 “บทพิสูจน์ตรงนี้แหละที่จะสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่นของคนในชุมชนกลับมาค่ะ ว่าเห็นไหมเราทำได้ คุณก็ทำได้เหมือนกัน พี่เชื่อไหมทุกวันนี้พื้นที่ในจังหวัดพิจิตรก็เริ่มหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น มีคนต่างพื้นที่ขอเข้ามาชมสวนทุเรียนเรามากขึ้น ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรก็เข้ามาชมด้วยนะ ท่านก็อยากรู้ว่า ปลูกอย่างไร ทำไมถึงรอด คือถือว่าสวนทุเรียนเรากลายเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรเชิงท่องเที่ยวไปแล้วค่ะ”

ไข่พญาชาละวัน 

“การปลูกทุเรียน ใคร ๆ ก็ปลูกได้ค่ะ อยู่ที่คุณพร้อมจะศึกษาเรียนรู้ไหม มีความพยายามแค่ไหน มีความอดทนมากพอไหม ทุเรียนหมอนทองไม่ว่าคุณจะปลูกที่ไหน มันก็เรียกว่า ทุเรียนหมอนทอง ถูกต้องไหมคะ แต่ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกในจังหวัดพิจิตรนี้ เราจะเรียกว่า “ไข่พญาชาละวัน” ถือเป็นการสร้างแบรนด์โดยอัตโนมัติ มันจะเป็นที่จดจำ และมันจะเป็นแบรนด์ทุเรียนแบรนด์เดียวของจังหวัดนี้ และต้นตำรับคือต้องมาจากจังหวัดพิจิตรนี้เท่านั้น และนี่ก็จะเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของพวกเราชาวจังหวัดพิจิตรค่ะ”

เกษตรกรมือใหม่ สู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน

“เพศที่ 3 ที่ทำอาชีพเกษตรกร ไม่ค่อยมีใครพูดถึงสักเท่าไร มันไม่มีภาพจำ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จไม่ได้ สำหรับตัวหนูเองเชื่อว่าอาชีพเกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ เป็นอาชีพที่อยู่เหนือกาลเวลา เป็นอาชีพที่ยั่งยืน มนุษย์ไม่สามารถกินทิพย์ได้ ถูกไหมคะ (หัวเราะ)”  

  “หนูเชื่อว่า LGBTQ ทำงานอยู่ในทุกวงการอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสได้เปิดตัวกับสื่อ หรือสังคมมากพอ คนอื่นเลยมองว่าการที่เรามาเป็นเกษตรกรลุย ๆ ลุยแดด ลุยฝน เป็นเรื่องแปลก สำหรับหนูแล้ว เพศที่ 3 มีศักยภาพ มีความสามารถ และมีคุณค่าต่อสังคมในทุก ๆ วงการอยู่แล้วค่ะ”